Robobloq Qobo หุ่นยนต์เรียนรู้การเขียนโปรแกรมสำหรับเด็ก

หุ่นยนต์ Robobloq Qobo เป็นหุ่นยนต์สำหรับเด็กประมาณ 3 ขวบขึ้นไปถึง 9 ขวบ ที่ออกแบบมาสำหรับการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมในระดับพื้นฐาน ซึ่งตัวหุ่นยนต์สามารถโต้ตอบการทำงานกับผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจการทำงานของตัวหุ่นยนต์และเรียนรู้การเขียนโปรแกรมสำหรับควบคุมอีกด้วย

ลักษณะของการเขียนโปรแกรมจะเป็นการ์ดคำสั่งและสติกเกอร์ โดยจะเป็นลักษณะของการเล่นเกมและมีบทเรียนแนะนำการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการฝึกทักษะของการใช้มือเพื่อประกอบและเล่นเกม โดยตัวหุ่นยนต์นี้สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ง่าย

อุปกรณ์ในชุดหุ่นยนต์ Robobloq Qobo

สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ในกล่องชุดหุ่นยนต์ Robobloq Qobo จะประกอบด้วย ตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo, สายชาร์จแบตเตอรี่ภายในตัวหุ่นยนต์, แผนที่สำหรับการทดลองเคลื่อนที่ร่วมตัวหุ่นยนต์, คู่มือการใช้งานตัวหุ่นยนต์และแผ่นการ์ดโปรแกรมคำสั่งให้กับตัวหุ่นยนต์เคลื่อนที่

อุปกรณ์ต่างๆ ในกล่องชุดหุ้นยนต์ Robobloq Qobo

โครงสร้างของตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo

โครงสร้างภายนอกและภายในตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo จะประกอบด้วยบอร์ดประมวลผล, แบตเตอรี่, ชุดขับล้อเคลื่อนที่, สวิตช์กดรับคำสั่ง, ตัวเซนเซอร์สำหรับอ่านการ์ดคำสั่ง, การแสดงผลด้วยแสงของตัวหุ่นยนต์และลำโพงส่งสัญญาณเสียง เป็นต้น สำหรับลักษณะของโครงสร้างตัวหุ่นยนต์แสดงในรูปข้างล่าง

โครงสร้างภายนอกและภายในตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo

คุณสมบัติของตัวหุ่นยนต์
  1. หุ่นยนต์รุ่น : Robobloq Qobo
  2. ขนาดตัวหุ่นยนต์ : 94.6×61.5×75 มิลลิเมตร
  3. อุณหภูมิการใช้งานช่วง : -10 ถึง 40 องศาเซลเซียส
  4. พอร์ตสำหรับโปรแกรมและสื่อสาร : Micro USB port
  5. ค่าแรงดันไฟฟ้าสำหรับใช้งาน : 3V-4.1V
  6. ค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งาน : 300mA
  7. ขนาดน้ำหนักหุ่นยนต์ : 160 กรัม
การโปรแกรมคำสั่งให้กับตัวหุ่นยนต์ด้วยการ์ด

การ์ดคำสั่งสำหรับการโปรแกรมให้ตัวหุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจนั้น จะประกอบด้วยกลุ่มคำสั่งต่างๆ ดังนี้ คือ กลุ่มแรกจะเป็นการ์ดคำสั่งให้เคลื่อนที่ เช่น การเริ่มต้น, เดินไปข้างหน้า, เดินไปทางซ้ายและขวา กลุ่มที่สอง การ์ดให้ส่งสัญญาณเสียงต่างๆ เช่น เสียงไซเรนรถตำรวจ, เสียงรถไฟ, สัญญาณเสียงเพลงและเต้น กลุ่มที่สาม เป็นการให้แสดงสีต่างๆ ที่ตัวหุ่นยนต์ เช่น สีแดง เขียว น้ำเงิน เหลืองและสีฟ้า เป็นต้น กลุ่มที่สี่ การ์ดกระทำคำสั่งตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ร่วมการเลี้ยวซ้ายหรือขวา การ์ดหยุดรอคำสั่งและรับค่าการกดสวิตช์เริ่มทำงาน และการ์ดหยุดรอและข้ามคำสั่ง 1 คำสั่ง เป็นต้น สุดท้ายเป็นกลุ่มคำสั่งให้กระทำคำสั่งซ้ำ 3 ครั้ง 6 ครั้ง และการ์ดให้หยุดทำซ้ำ

กลุ่มที่ 1 การ์ดคำสั่งให้เคลื่อนที่

กลุ่มที่ 2 การ์ดให้ส่งสัญญาณเสียงต่างๆ

กลุ่มที่ 3 การให้หุ่นยนต์แสดงสีต่างๆ บนตัวหุ่นยนต์

กลุ่มที่ 4 การ์ดกระทำคำสั่งตามเงื่อนไขต่างๆ

กลุ่มคำสั่งที่ 5 การทำคำสั่งซ้ำ และการให้หยุดทำคำสั่งซ้ำ

การใช้งานในโหมดเคลื่อนที่ต่างๆ 

โหมดเกม (Game Mode) คือการให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามแผนที่การ์ดที่กำหนดไว้ โดยในโหมดนี้จะมีบทเรียนประกอบสำหรับการเรียนรู้ถึง 16 รูปแบบ ทั้งนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการใช้ตัวหุ่นยนต์และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในแต่ละบทเรียนอย่างเป็นขั้นตอนจากบทเรียนที่ง่ายไปสู่บทเรียนที่ยากขึ้น ช่วยให้เข้าใจการจัดเรียงการทำงานและใช้การ์ดคำสั่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไป สำหรับขั้นตอนการโปรแกรมตัวหุ่นยนต์ในโหมดเกมนั้น จะมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน (แสดงตามรูปข้างล่าง) โดยเริ่มจากกดสวิตช์เปิดการใช้งานหุ่นยนต์ (ON/OFF button) ขั้นตอนที่ 2 เลือกบทเรียนและวางตำแหน่งการ์ดการคำสั่งในการทดลอง ขั้นตอนที่ 3 ให้หุ่นยนต์เริ่มต้นเคลื่อนที่จากคำสั่งการ์ดแรกและขั้นตอนสุดให้เรากดสวิตช์เริ่มทำงาน (Start button)   

ขั้นตอนการโปรแกรมในโหมดเกม (Game Mode)

คำสั่งการ์ดเริ่มทำงานในโหมดเกมส์ 

โหมดการเคลื่อนที่อิสระ (Free Mode) หมายถึง การเคลื่อนที่แบบอิสระของตัวหุ่นยนต์ โดยจะได้รับโปรแกรมคำสั่งจากผู้ทดลองก่อน ซึ่งจะมีลำดับอยู่ขั้นตอนด้วยกัน 5 ส่วน คือ ลำดับขั้นตอนที่แรกเปิดสวิตช์การใช้งาน (ON/OFF button) ให้กับตัวหุ่นยนต์ ลำดับที่ 2 การสแกนคำสั่งการ์ดในโหมดการเคลื่อนที่อิสระ ลำดับที่ 3 สแกนการ์ดคำสั่งที่ต้องการในกลุ่มคำสั่งเดียวกัน ลำดับที่ 4 สามารถสแกนการ์ดคำสั่งอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อกระทำคำสั่ง ลำดับที่ 5 สุดท้ายเป็นการให้ตัวหุ่นยนต์เริ่มต้นการทำงานด้วยการกดสวิตช์ (Start button) ในสำหรับในรูปข้างล่างจะเป็นตัวอย่างการใช้งานในโหมดนี้

ขั้นตอนการโปรแกรมในโหมดเคลื่อนที่อิสระ (Free Mode)

คำสั่งการ์ดเริ่มทำงานในโหมดเคลื่อนที่อิสระ 

การเขียนโปรแกรมควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์

ในการควบคุมตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo นอกจากจะใช้โหมดการควบคุมแบบโหมดเกมและโหมดการเคลื่อนที่อิสระเพื่อให้ตัวหุ่นยนต์เคลื่อนที่ หรือทำคำสั่งต่างๆ ผู้เรียนสามารถเขียนโปรแกรมคำสั่งบนคอมพิวเตอร์แบบบล็อก (Scratch-Junior based) และดาวน์โหลดมายังตัวหุ่นยนต์ได้เช่นกัน โดยใช้โปรแกรม QOBO FOR PC ดังแสดงในรูปข้างล่าง จากนั้นให้เชื่อมต่อหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB Port 

โปรแกรม QOBO FOR PC สำหรับหุ่นยนต์ Robobloq Qobo

เชื่อมต่อหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB Port 

จากนั้นให้ทำการดาวน์โหลดโปรแกรมที่เขียนมายังตัวหุ่นยนต์ ซึ่งจะมีรูปคำสั่งดาวน์โหลดข้างล่างขวามือ และเมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้วโปรแกรมจะแสดงกล่องข้อความการดาวน์โหลดเสร็จสิ้นให้ทราบดังรูปแสดงข้างล่าง จากนั้นให้ปลดสายเชื่อมต่อพอร์ต USB ออกจากตัวหุ่นยนต์ และกดสวิตช์เปิดการใช้งานหุ่นยนต์ (Start button) ซึ่งตอนนี้จะรอให้ตัวหุ่นยนต์แสดงเป็นแสงสีชมพูกะพริบให้ทราบ จากนั้นให้กดที่สวิตช์เริ่มการทำงานเพื่อให้หุ่นยนต์กระทำคำสั่ง

การดาวน์โหลดโปรแกรมไปยังตัวหุ่นยนต์เสร็จสมบูรณ์

ในกรณีที่เราต้องการให้ตัวหุ่นยนต์ทำงานซ้ำให้กดที่สวิตช์เปิดการใช้งานหุ่นยนต์ (Start button) แต่ในกรณีที่ต้องการออกตจากโหมดการทำงานนนี้ ให้กดสวิตช์เริ่มการใช้งานหุ่นยนต์ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที ตัวหุ่นยนต์จะแสดงเป็นแอลอีดีสีน้ำเงิน โดยในช่วงนนี้สามารถเปลี่ยนโหมดไปใช้แบบเกมส์และเคลื่อนที่อิสระได้เช่นเดิมนั้นเอง

การใช้การ์ดโปรแกรมทางคณิตศาสตร์

สำหรับตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo นอกจากใช้งานในโหมดเกมส์และเคลื่อนที่อิสระแล้ว ยังสามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ ด้วยชุดการ์ดในกล่องแยกชุด (MATHEMATICAL PROGRAM CARDS) รวมทั้งคู่มือการใช้งานในชุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่หลากหลาย และเพิ่มความสนุกสนานในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 

ชุดการ์ดคำนวณทางคณิตศาสตร์ในกล่อง (MATHEMATICAL PROGRAM CARDS)

แสดงลักษณะของการ์ดคำนวณทางคณิตศาสตร์

การใช้งานชุดการ์ดคำนวณทางคณิตศาสตร์ร่วมกับตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo จะคล้ายกับการใช้งานในโหมดเกม ซึ่งผู้เรียนจะสามารถตั้งคำถามและทราบคำที่เกิดขึ้นโดยตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo จะอธิบายการตั้งโจทย์ของผู้เรียนของทุกการ์ดที่ตั้งขึ้น จากนี้ก็จะคำนวณตามโจทย์ที่กำหนดไว้และในขั้นตอนสุดท้ายตัวหุ่นยนต์จะบอกให้ทราบว่าผู้เรียนคำนวณได้ถูกต้องหรือไม่ 

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับอัปเดตหุ่นยนต์

สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวหุ่นยนต์ Robobloq Qobo เพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.robobloq.com ซึ่งจะมีข้อมูลต่างๆ อัปเดตสำหรับผู้ใช้งานตัวหุ่นยนต์ เช่น คู่มือการใช้งาน, แผนที่สำหรับการทดลองการเคลื่อนที่ร่วมตัวหุ่นยนต์, โปรแกรมอัปเดตเวอร์ชันใหม่ให้กับตัวหุ่นยนต์, โปรแกรมสำหรับคำสั่งควบคุมการทำงานหุ่นยนต์ https://www.robobloq.com/software/download รวมทั้งวิดีโอประกอบการเรียนรู้และการใช้งานตัวหุ่นยนต์ เป็นต้น

.

ข้อมูลโดย:

  1. https://www.robobloq.com
  2. https://www.robobloq.com/support/qobo
  3. https://www.robobloq.com/product/Qobo

.

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) 1858/87-90 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
โทรศัพท์ 0 2826 8263 โทรสาร 0 2826 8356-59 อีเมล์ stem@se-ed.com